อาหารญี่ปุ่นที่ต้องลอง

อาหารท้องถิ่นญี่ปุ่น ไปถึงที่ต้องห้ามพลาด!

ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันทั้งที นอกจากเที่ยวกับช๊อป ก็ต้องกินนี่แหละจะได้ครบสูตร ยิ่งญี่ปุ่นแล้วด้วยอาหารการกินก็ดูน่ากินไปซะทุกอย่างจนอยากจัดทริป “ตะลอนกิน” กันเลยทีเดียว แต่จะจัดทั้งทีก็ต้องจัดแบบที่เรียกได้ว่า “ถึง” ที่จริงๆ วันนี้ Allianz Travel จะมาแนะนำเมนูประจำท้องถิ่น ที่เรียกได้ว่าต้องลองเลยหากว่าได้ไปแต่ละภูมิภาค

ภูมิภาคฮอกไกโด (HOKKAIDO)

อาหารทะเล ทั้งปลาสดและอาหารทะเลแปรรูปหลากหลายชนิดเช่น ปู หอยเชลล์ หอยเม่นทะเล ไข่ปลาแซลมอน ปลาแซลมอน ปลาค็อด ปลาหมึกยักษ์ กุ้ง หอยเป๋าฮื้อ หอยปีกนก และผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเลอื่นๆ จัดเป็นอาหารทะเลชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะปูที่มีขนาดใหญ่และรสหวาน ไม่ว่าจะนำไปต้มในน้ำเกลือหรือทำเป็นซาชิมิ ไม่ว่าจะเป็นปูราชินี ปูขน หรือปูอลาสก้า และซาชิมิหอยเม่นที่คุณควรจะต้องไปลองสักครั้งในชีวิต

เจงกีสข่าน “เจงกีสข่าน นาเบะ” เป็นคำเรียกถึงตัวของหม้อหรือกระทะที่นำมาใช้ประกอบเมนูนี้ ซึ่งเป็นกระทะทรงหมวกที่ทำจากเหล็กหล่อ นอกจากนี้ยังหมายถึงอาหารที่นำเนื้อแกะสไลด์บางและผักต่างๆ (ถั่วงอก กะหล่ำปลี และฝักทอง) มาทาน้ำมันและย่าง ร้านอาหารหลายแห่งในฮอกไกโดเชี่ยวชาญในการทำเจงกีสข่าน นาเบะ บอกได้เลยว่าเมนูนี้สายดื่มต้องไม่พลาด

ภูมิภาคโทโฮคุ (TOHOKU)

ซาซาคามะโบโกะ ของขึ้นชื่อของจังหวัดมิยะงิที่นิยมซื้อเป็นของขวัญหรือของฝาก ทำจากเนื้อปลาและมีรูปร่างลักษณะเหมือนใบไม้ไผ่ (ซาซา) จากรอยที่เกิดจากการย่าง ซาซาคามะโบโกะที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจากเมืองเซ็นไดซึ่งมีร้านทำซาซาคามะโบโกะ แบบโฮมเมดมาเป็นเวลานาน โดยทำจากเนื้อปลาลิ้นหมาที่จับได้ตามฤดูกาลเพื่อเป็นการถนอมอาหาร โดยการนำไปสับและนวดด้วยมือจนเหนียว แล้วนำไปย่าง

คิริทัมโปะ แห่งจังหวัดอะคิตะ ที่ทำมาจากข้าวปรุงร่วมกับส่วนผสมเฉพาะตามสูตรของท้องถิ่นในกระทะ หลังจากนั้นนวดเข้าด้วยกัน และนำไปเสียบไม้ย่างเพื่อเพิ่มความหอม โดยช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการไปลิ้มลองคือ ช่วงกลางเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน รสชาติเฉพาะแบบนี้ต้องไปเองที่อะคิตะ

ภูมิภาคคันโต (KANTO)

นาเมะโร อาหารท้องถิ่นของชาวประมงในแถบชายฝั่งของแหลมโบโซ-ฮันโตทางตอนใต้ของจังหวะจิบะ ส่วนผสมหลักคือปลาต่างๆ โดยหั่นปลาเป็นชิ้นเล็กๆ และสับรวมกับมิโสะ ต้นหอม ขิง และใบโหระพา ให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเดียวกัน ต้นหอมและขิงจะเป็นตัวดับกลิ่นคาวปลา นาเมะโรมี 2 แบบ คือย่างและผสมน้ำส้มสายชู โดยแบบย่างจะเรียกว่าซังกะยะกิ และแบบที่ผสมน้ำส้มสายชูจะเรียกว่าสึนาเมะโร

ฟุคะงะวะเมะชิ อาหารยอดนิยมแห่งโตเกียว ทำจากหอยแกะเปลือกและต้นหอมนำไปผัดกับมิโสะ เสิร์ฟพร้อมข้าวและซุปเป็นชุด โดยใช้หอยตัวใหญ่ และน้ำจากหอยที่ผสมกับมิโสะจะสร้างรสชาติที่อร่อยโดดเด่นขึ้นมา

ภูมิภาคจูบุ/โตไก (CHUBU/TOHKAI)

อุนางิ หรือปลาไหล จังหวัดชิซุโอะกะ มีแหล่งเพาะเลี้ยงปลาไหลที่มีคุณภาพสูงและมีชื่อเสียง โดยปลาไหลนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และญี่ปุ่นนิยมกินปลาไหลในฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อน และความชื้นทำให้คนไม่อยากอาหาร โดยวิธีที่นิยมนำปลาไหลมาทำอาหารที่สุดคือการย่างถ่าน หรือคะบะยะกิ โดยในแถบคันโตจะนำชิ้นเนื้อปลาไหลมาย่างบนเตาถ่าน แล้วนำไปนึ่ง จากนั้นก็นำมาย่างด้วยความร้อนปานกลางอีกครั้ง และทาน้ำมันขณะที่ย่างด้วย ส่วนในแถบคันไซจะนำปลาไหลทั้งตัว ควักไส้ออก แล้วนำไปเสียบไม้ย่างและทาน้ำมันไปด้วยขณะย่าง

มิโสะคัตสึ “ทงคัตสึ” หรือหมูชิ้นทองราดซอสเป็นเมนูที่นิยมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับจังหวัดไอจินั้นมีเมนูทงคัตสึที่แตกต่างออกไป โดยจะใช้ซอสที่ทำจากมิโสะ ซึ่งเป็นสูตรต้นตำรับที่ทำจากน้ำซุปปลาโอและน้ำตาล และเรียกเมนูนี้ว่า “มิโสะคัตสึ” ซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตในจังหวัดไอจิเลยทีเดียว

ภูมิภาคโฮคุริคุ (HOKURIKU)

โฮตะรุอิกะ แห่งจังหวัดโทะยะมะ หรือปลาหมึกหิ่งห้อย ซึ่งเป็นปลาหมึกพันธุ์เล็กที่พบในอ่าวโทะยะมะ สามารถทานเป็นแบบซาชิมิ หรือแบบชาบู ก็ได้ หรือหากนำไปตากแห้งแล้วย่างเล็กน้อยก็เหมาะกับเป็นกับแกล้มเวลาดื่มได้เช่นกัน ชื่อปลาหมึกหิ่งห้อยมาจากลักษณะเรืองแสงของผิวปลาหมึกสีขาวอมฟ้าคล้ายหิ่งห้อย

จิบุนิ อาหารพื้นเมืองของคะนะซะวะ ทำจากเนื้อเป็ดหั่นบางๆ ชุบแป้งหรือแป้งมัน แล้วนำไปต้ม เห็ดชิตาเกะ หน่อไม้ และผักชีญี่ปุ่นในน้ำซุปที่ทำจากน้ำสต็อก มิริน (เหล้าหวานสำหรับปรุงอาหาร) น้ำตาล เกลือ โชยุ และสาเก โดยแป้งหรือแป้งมันที่อยู่ด้านนอกจะช่วยรักษารสชาติของเนื้อและทำให้น้ำสต็อกข้นขึ้น ใช้วาซาบิเพื่อเพิ่มรสชาติ

ภูมิภาคคันไซ (KANSAI)

ยุโดฟุ หรือเต้าหู้ต้ม ยอดนิยมในฤดูหนาวแห่งเกียวโต เมนูที่จะทำให้คุณรู้สึกอุ่นขึ้น ด้วยรสชาติเบาๆ และผิวสัมผัสที่เรียบเนียนของเต้าหู้ ทำให้ทุกรสสัมผัสที่ได้รับนั้นรู้สึกอบอุ่นเป็นพิเศษ โดยเมนูนี้ทำจากการนำเต้าหู้ทำมือมาต้มกับซุปสาหร่าย และทานด้วยการจิ้มในเครื่องปรุงรส วิธีการทำดูธรรมดา แต่รสชาติที่ได้มานั้นล้ำลึกอย่างยิ่ง

ทะโกะยะกิ หรือ ขนมครกไส้ปลาหมึก ต้นตำรับจากโอซาก้า แบบกรอบนอกนุ่มใน จากการทำด้วยกระทะแบบหลุม ที่มีหลายๆหลุม จากนั้นทำให้เป็นลูกกลมๆโดยการหมุนไปมาให้สุก ที่ดูเหมือนจะทำได้ง่ายๆ แต่บอกเลยว่ายากมาก นอกจากรูปลักษณ์แล้ว รสชาติต้นตำรับที่ไม่เหมือนใครและเครื่องโรยหน้า พร้อมจิ้มกับมายองเนสอีก บอกได้เลยว่า เคยลองที่ไหนมา รับรองได้ว่าไม่ฟินเท่าต้นตำรับแน่นอน

ภูมิภาคชูโงะคุ (CHUGOKU)

ฟุกุ หรืออาหารจากปลาปักเป้า (จังหวัดยะมะงุจิ) นิยมทานแบบซาชิมิหรือเรียกว่า “ฟุกุซาชิมิ” ที่แล่จนบางบากจนมองทะลุผ่านได้ และจัดเรียงอย่างงดงาม แต่ไม่ได้มีเพียงความสวยงามเท่านั้น รสชาติแห่งความสดของเนื้อปลาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน นอกจากนั้นปลาปักเป้ายังสามารถนำมาทำเมนูหม้อไฟได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเด็ด แต่อย่างไรก็ตามเมนูจากปลาปักเป้านั้น ก็มีอันตรายมากหากไม่ได้รับการปรุงที่ถูกต้อง เพราะว่าปลาปักเป้าบางชนิดนั้นมีพิษถึงตายได้ ซึ่งพ่อครัวที่จะปรุงเมนูปลาปักเป้าได้นั้น จะต้องมีใบอนุญาติพิเศษซึ่งได้รับการอบรมวิธีการกำจัดส่วนที่มีพิษออกอย่างระมัดระวัง

หอยนางรม ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีรสชาติเป็นเลิศ และในประเทศญี่ปุ่นนั้น จังหวัดฮิโรชิม่าเป็นแหล่งผลิตหอยนางรมชั้นนำ ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงแบบพิเศษที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ได้หอยตัวใหญ่ เนื้อนุ่ม จนอาจทำให้ลืมหอยนางรมจากที่อื่นได้เลย

ภูมิภาคชิโกะคุ (SHIKOKU)

ซะนุกิ-อุด้ง หรืออุด้งที่ใช้เส้นแป้งสาลี แห่งจังหวัดคะงะวะ ซึ่งเป็นที่รู้จักว่า เป็น “อาณาจักรอุด้ง” เพราะมีผู้ผลิตและร้านอาหารอุด้งที่ใช้เส้นแป้งสาลีจำนวนมาก มีจุดเด่นที่ความแข็งและเนื้อเรียบเนียน วิธีรับประทานคือเทซุปสาหร่ายที่ปรุงรสด้วยโชยุเล็กน้อยลงไปบนเส้น ใส่ต้นหอม ขิง ไข่ หรืองาตามชอบ และโรยด้วยเครื่องโรยที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทำให้เกิดรสชาติหลายรูปแบบจนไม่น่าเบื่อเลยทีเดียว

ภูมิภาคคิวชู (KYUSHU)

มิซุทะกิ หรือไก่ต้มไม่ปรุงรส แห่งจังหวัดฟุกุโอะกะ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเมจิ จากซุปใสของตะวันตกและอาหารประเภทไก่ของจีน ทานกับน้ำจิ้มพอนสุ และเติมเครื่องปรุงรส นอกจากนี้อาจสามารถใส่ข้าวลงไปหลังทานไก่และผักหมดแล้วเพื่อเพิ่มความอิ่มท้องก็ยังได้

ฮิยะจิรุ อาหารท้องถิ่นของจังหวัดมิยะซะกิ เป็นการนำน้ำซุปที่แช่เย็นราดลงบนข้าวร้อนๆ ทานคู่กับผัก และเครื่องเคียง โดยน้ำซุปนั้นทำมาจากปลาแห้งต้มและปรุงรสด้วยมิโสะ ทำให้ได้เพลิดเพลินกับรสชาติและความสดชื่นจากผักฤดูร้อน เชื่อกันว่าเมนูนี้เกิดขึ้นจากเกษตรกรในมิยะซะกิเพื่อไม่ต้องเสียเวลาเตรียมอาหารในระหว่างทำงานในไร่

นอกจากเมนูท้องถิ่นที่แนะนำไปนั้น ประเทศญี่ปุ่นยังมีอีกหลายเมนูที่รอให้ไปลองลิ้นชิมรสอีกมากมายในแต่ละภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตามอาหารแต่ละท้องที่นั้นก็มีความเฉพาะแตกต่างกันไปในเรื่องของส่วนผสม ซึ่งบางอย่างอาจไม่คุ้นชินกับคนไทย และอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ ดังนั้นแล้วหากวางแผนทริปตะลอนกิน เราคงต้องคิดถึงเรื่องความเจ็บป่วยไว้ด้วยการทำประกันการเดินทางที่มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมความเจ็บป่วยจากการทานอาหารด้วย จะได้ Enjoy Eating กันได้อย่างเต็มที่กันเลย!

ที่มา : https://www.jnto.or.th

เรามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและดูแลคุณ

อลิอันซ์ทราเวลเป็นผู้นำระดับโลกด้านประกันภัยการเดินทางและบริการช่วยเหลือทั่วไป เรามีแผนประกันภัยที่หลากหลายให้เลือก ครอบคลุมตั้งแต่แผนรายเที่ยว แผนรายปี แผนครอบครัว ไปจนถึงแผนเดินทางศึกษาต่อต่างประเทศ เราทุ่มเทที่จะให้บริการช่วยเหลือและปกป้องคุณทุกที่ ทุกเวลาเท่าที่เราจะทำได้ เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประกันภัยและการให้ความช่วยเหลือ แต่เรามุ่งเน้นไปที่สิ่งที่มากกว่านั้น และทุกบริการของเราก็เพื่อลูกค้าคนสำคัญของเรา

Comments