การเดินทาง เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับชีวิต

ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีประสบการณ์ท่องเที่ยวในรูปแบบทัวร์ มันเป็นการเดินทางที่ผมยังจำได้ดี เพราะเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกกับครอบครัว
ผมทั้งตื่นเต้นและก็กลัวมากด้วย เพราะผมพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ผมไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย ไม่รู้ว่าสถานที่ที่ไปชื่อว่าอะไร ต้องนั่งรถอะไรไป เพียงแต่ผม “สบายใจ” เพราะผมจะมีไกด์และคนขับรถ พาผมไปทุกๆที่ ในที่ที่ผมไม่เคยไป
จบทริป แน่นอน ผมมีความสุข แต่ความทุกข์หละ ผมหามันไม่เจอ!!!

ความทุกข์ของการเดินทางอยู่ที่ไหน???
เวลาผ่านไป การเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีบริษัททัวร์เกิดขึ้นมากมาย ในหลายๆประเทศที่อยากจะไป เราเพียงแค่ “จ่าย” แล้ว “รับ” สิ่งที่เค้าเสนอให้ ตาม “ข้อตกลง” ที่ได้ทำไว้
ผมค้นหาในทุกๆทัวร์ แต่กลับพบว่า ไม่มีทัวร์ไหนเลย ที่เสนอ “ความทุกข์” หรือ “ความลำบาก” ให้ผมได้ แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะการทำทัวร์ คือการที่ต้องทำให้ได้กำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด คนที่ไปต้องได้รับความสบายที่สุด และพึงพอใจสูงสุด ให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า ให้กระแสเงินสดหมุนเข้าบริษัท เพื่อเลี้ยงพนักงานทุกคนให้บริษัทอยู่รอด
นับแต่นั้นมา ผมเลย ออกเดินทางด้วยตัวเอง วางแผนด้วยตัวเอง และหั่นค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง โดยมีหลักการที่ว่า

“ทัวร์ทำราคาที่เท่าไหร่…ผมจะทำราคาให้ต่ำกว่า 50-70% ให้จงได้”
“ทัวร์ให้นั่งเครื่องบิน ผมจะนั่งรถไฟ”
“ทัวร์ให้กินบุฟเฟต์รร. ผมจะกินอาหารข้างทาง”
“ทัวร์ให้นอนโฮเทล ผมจะนอนโฮสเทล”
“ทัวร์ให้กินแต่อาหารจีน ผมจะไม่แตะอาหารจีน”

หลังจากนั้น สิ่งที่ผมได้กลับบ้านมาในการเดินทางทุกครั้ง คือ
“ความทุกข์ ความลำบากจากการเดินทาง”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยได้รับมันเลย เมื่ออยู่ประเทศไทย
การเดินทางตามล่าหาแสงเหนือเมื่อสองปีที่แล้วก็เช่นกัน ใครๆก็บอกว่าราคาเป็นแสนๆ
แต่ผมก็ทำมันมาแล้ว ให้ไม่ได้เฉียด 6 หลัก เลยซักนิดเดียว… เพียงแค่หกหมื่นต้นๆเท่านั้น
เพราะผมเชื่อว่า
“ยิ่งเราได้ใช้ชีวิตลำบากมากเท่าไหร่ ภูมิต้านทานในการใช้ชีวิต ก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น”
-ที่สำคัญ เอาเงินไปเที่ยวต่อได้อีกหลายๆที่อีกด้วย

5 สิ่งผิดพลาดที่พบมากที่สุดเมื่อไปท่องเที่ยว

เชื่อว่าเวลาไปท่องเที่ยว ทุกคนก็อยากมีความสุขและสนุกที่สุด ให้คุ้มกับเงินเป็นหมื่นๆที่เสียไป แต่เคยได้ยินกฎของเมอร์ฟีไหมที่ว่า “Whatever can go wrong, will go wrong” อะไรก็ตามที่แม้วางแผนมาดีขนาดไหน เตรียมตัวมาขนาดไหน ก็สามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้น วันนี้เรามาดู 5 ความผิดพลาดที่พบมากที่สุดในการท่องเที่ยว พร้อมวิธีป้องกันและแก้ไข เป็นความรู้ประดับบารมีนักท่องเที่ยวมือสมัครเล่นและมือโปรกันดีกว่า

กระเป๋าหาย!

ความผิดพลาดอันดับแรกๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกทริป เมื่อคุณเดินทางถึงที่หมายโดยปลอดภัย ไปรอรับกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องไว้ด้วยความตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น รอแล้วรอเล่าจนกระเป๋าถูกเอาไปจนเกลี้ยงสายพานก็ยังหากุชชี่ใบสีแดงแรงฤทธิ์ของคุณไม่เจอ?!? เสื้อผ้า อุปกรณ์กันหนาว ข้าวของมีค่าอะไรก็อยู่ในนั้นหมด แล้วฉันจะใส่อะไรมิทราบยะ!

จะทำยังไงดี?:

  • สงบสติอารมณ์ พยายามทำตัวเป็นผู้ดีมีเหตุผลมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าคุณอยากจะวีน เหวี่ยง ให้สนามบินระเบิดมากแค่ไหนก็ตาม
  • อย่าเพิ่งออกจากสนามบิน ไปที่เคาน์เตอร์ของสายการบินและแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่เป็นไปได้
  • ต่อรองเพื่อสิ่งที่คุณควรจะได้ ความจริงคือไม่ใช่ทุกสายการบินจะชดใช้ค่าเสียหายให้คุณแม้ว่ามันนั่นแหละที่เป็นคนทำหาย! (อย่าใส่อารมณ์ ใจเย็นๆไว้) ดังนั้นศึกษากฎระเบียบของสายการบินที่คุณจะบินให้ดี ใช้ทุกช่องทางกดดันให้สายการบินชดใช้ให้คุณอย่างเหมาะสม ขั้นตอนนี้ขอให้ใช้คำพูดให้เหมาะสมอย่าหยาบคายด้วยแรงอารมณ์นะจ้ะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่ต้องเอาอะไรไปมาก บางทริปแค่ 3-4 วันเอาของไปแค่เป้ใบย่อมๆก็พอ เสื้อผ้าชิ้นไหนใส่ซ้ำได้ก็ใส่ ไม่ต้องเสียเงินค่าโหลดกระเป๋าแถมตัดความเสี่ยงเรื่องนี้ไปโดยปริยาย
  • พกเสื้อผ้าสำรองไว้กับตัวอย่างน้อย 1 ชุด ปกติถ้าสายการบินหากระเป๋าเราเจอ เค้าจะส่งตามมา 1-2 วันให้หลัง ดังนั้นระหว่างนี้ ถ้าไม่อยากตัวเน่าก็ควรพกชุดเปลี่ยนไว้ในกระเป๋าที่เป็น carry on แก้ขัดไปก่อนได้ ส่วนใครที่ไปเมืองหนาวแนะนำให้เอาเสื้อกันหนาวขึ้นเครื่อง อย่างน้อยจะได้ไม่แข็งตายหรือเสียเงินซื้อเสื้อกันหนาวแสนแพงใหม่ก่อนที่กระเป๋าที่หายจะถูกส่งมา
  • พกเอกสารสำคัญและข้าวของมีค่าไว้กับตัว พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน เอกสารประกันการเดินทาง บัตรเครดิต ยา แว่นตา คอนแทคเลนส์ แหวนเพชรราคาแพง ฯลฯ เหล่านี้ต้องติดตัวไว้เสมอ
  • ถ่ายรูปของในกระเป๋าไว้ เวลาไปแจ้งของหายพวกสายการบินชอบถามว่ามีอะไรอยู่ข้างใน อะนี่ แกเอาไปดูซ้า
  • ซื้อประกันการเดินทาง ถ้ามีการขึ้นเครื่องหลายๆต่อที่ต้องซื้อด่วน อย่าลืมดูว่ามีคุ้มครองเรื่องนี้หรือเปล่า หลายๆที่จะชดใช้ค่าเสื้อผ้าวันแรกของเราด้วย

ตกเครื่อง!

อาจจะเป็นเพราะเที่ยวบินแรกของคุณดันดีเลย์ รถติด รถไฟฟ้าเสีย หลับเพลิน หรืออะไรก็ตามแต่ แต่พอกระเสือกกระสนมาถึงสนามบิน เที่ยวบินที่คุณจองไว้ได้โบยบินออกไปแล้ว ไม่นะ!

จะทำยังไงดี?:

  • กรณีไปต่อเครื่องไม่ทัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสายการบินเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นเป็นปัญหาของทางสายการบินเองที่จะหาเที่ยวบินต่อไปให้กับคุณให้เร็วที่สุด หน้าที่ของคุณมีอย่างเดียวคือทำตัวพูดรู้เรื่อง เจรจาอย่างใจเย็น ไม่วีนเหวี่ยง ใครๆก็อยากให้ความช่วยเหลือ
  • เปลี่ยนตั๋ว เจรจากับเจ้าหน้าที่ของสายการบินขอเปลี่ยนตั๋วอย่างมีสติ แน่นอนว่าต้องมีค่าเปลี่ยนตั๋ว แต่ก็ดีกว่าค้างเติ่งอยู่ที่สนามบินเป็นวันๆละนะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่จองตั๋วเครื่องบินต่อกันกระชั้นเกินไป อย่างน้อยมี 2 ชั่วโมงสำหรับการเปลี่ยนเครื่อง รอนิดหน่อย ดีกว่าตกเครื่องแล้วต้องเสียทั้งเวลาทั้งเงินเน้อ
  • เผื่อเวลาไว้บ้าง หลายๆเมืองขึ้นชื่อเรื่องรถติด เช่น กรุงจาการ์ต้า กรุงมะนิลา เป็นต้น ถ้าคุณบังเอิญเดินทางจากเมืองเหล่านั้น ควรจะเผื่อเวลาไว้เยอะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมาถึงสนามบินได้ทันเวลา

ถูกล้วงกระเป๋า!

โจรขโมยแอบอยู่ทุกหลืบ ทุกมุมเมือง ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็ตาม รู้ตัวอีกครั้ง กระเป๋าคุณอาจถูกกรีดเป็นทางยาว เงินและเอกสารสำคัญหายหมดเกลี้ยงก็เป็นได้

จะทำยังไงดี?:

  • แจ้งตำรวจท้องถิ่น ซึ่งอาจจะไม่ทำอะไรเลย (เพราะเจอเคสเหล่านี้ประจำ) แต่ทำไปเถอะ ยิ่งถ้าคุณซื้อประกันการเดินทางไป ใบแจ้งความคือสิ่งแรกที่บริษัทประกันจะถามถึง
  • โทรแจ้งบริษัทประกัน รีบโทรแจ้งให้เรียบร้อย เรื่องจะได้เดินเร็วขึ้น และเราจะได้รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ
  • ติดต่อสถานฑูตไทยประจำประเทศนั้นๆ จำเป็นกรณีพาสปอร์ตหาย และอาจจะช่วยคุณดำเนินการเรื่องยกเลิกบัตรเครดิตต่างๆได้

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ใช้กระเป๋าซ่อนเงิน (money belt) โอเค เข้าใจว่ามันโค-ตะ-ระจะเกะกะและน่ารำคาญ หยิบเงินแต่ละทีก็ต้องมาลำบากล้วงกันอีก แต่ใช้เถอะ คุณยังหยิบเงินได้ยาก ขโมยก็ยิ่งหยิบของคุณยากกว่า
  • สแกนหน้าพาสปอร์ตและบัตรเครดิตเก็บไว้ จะอีเมลหาตัวเอง เก็บขึ้นพวก Dropbox หรือ Google Drive อะไรก็ได้
  • อย่าทำตัวเด่น อันนี้รวมถึงการสะพายกล้องราคาแพง ใส่นาฬิกาเรือนแสน แบกเป้ใบเขื่อง แต่งตัวแบบที่หัวขโมยมองปราดเดียวแล้วรู้ทันทีว่าคุณเป็นนักท่องเที่ยวเอ๋อๆคนหนึ่งที่พร้อมให้มันปล้นเอา
  • ไปในสถานที่ที่ปลอดภัย มีคนพลุกพล่าน

ป่วย บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ!

คุณไปปีนเขาที่เนปาล ระหว่างนั้นเกิดอาการแพ้ความสูง (Altitude Sickness) มีเหตุต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายคุณสู่พื้นดินกระทันหัน หรือระหว่างที่คุณกำลังเล่นสกีอย่างเมามันอยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น เกิดพลาดท่าล้มขาหัก ถูกหามเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือคุณอาจไม่สบายเพราะอาการเปลี่ยนก็เป็นได้ อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้จะระวังตัวอย่างดีแล้วก็ตาม

จะทำยังไงดี?:

  • ถ้าเป็นแค่เจ็บป่วยธรรมดา เข้าร้านขายยาก็พอ ไม่ต้องถึงกับไปโรงพยาบาลให้ยุ่งยากวุ่นวาย
  • แต่ถ้าจำเป็นก็ไปโรงพยาบาลเถอะ อย่าปล่อยให้เป็นหนักถึงมันจะแพง แม้ว่าคุณจะไม่ได้ซื้อประกันการเดินทางไว้เลย
  • ตรวจสอบเงื่อนไขของประกันการเดินทางที่คุณซื้อ กรณีที่คุณซื้อประกัน ให้ตรวจสอบก่อนว่าอะไรคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองและใช้มันซะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ทำตัวให้แข็งแรงก่อนการเดินทาง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ
  • ซื้อประกันการเดินทาง ถ้ารู้ว่าตัวเองจะผจญภัยที่ทำกิจกรรมอะไรที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โปรดอย่าเสียดายเงินและซื้อประกันการเดินทางซะ
  • เตรียมยาสามัญประจำบ้านไป พวกยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดหัว แก้ท้องร่วง ท้องอืด เพราะเอาเข้าจริงบางประเทศต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้นถึงจะซื้อได้

ภัยธรรมชาติ!

ครั้งหนึ่งในชีวิตการเดินทางของผู้เขียน ได้ไปติดอยู่ที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งตุรกีด้วยเหตุพายุหิมะถล่ม ทำให้ทุกเที่ยวบินถูกยกเลิก ต้องติดอยู่ที่สนามบินเป็นระยะเวลานานจนในที่สุดก็หาตั๋วเครื่องบินใหม่ได้ ซึ่งราคาแพงกว่าตั๋วเดิมที่ได้ refund มาถึง 6 เท่า! ตอนนั้นโชคดีว่าซื้อประกันการเดินทางไปจึงสามารถเคลมคืนได้หมด

จะทำยังไงดี?:

  • ตั้งสติ สติคือทุกอย่าง หากเจอภัยธรรมชาติอื่นๆที่แย่ยิ่งกว่าพายุหิมะ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เราต้องรู้ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ดังนั้นควรศึกษาภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นในที่ๆเราจะไปและการเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาตินั้นๆด้วย
  • ส่งข่าวกับทางบ้านด้วย อย่าลืมบอกคนที่บ้านว่าคุณยังอยู่ดี ทางนู้นอาจเป็นห่วงจนแทบจะบินมาหาคุณด้วยตัวเอง
  • ตรวจสอบเงื่อนไขของสายการบินและประกันการเดินทางที่คุณซื้อ ดูว่ากรณีไหนที่คุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่ไปสถานที่นั้นในช่วงที่อาจเกิดภัยธรรมชาติ ถ้าคุณรู้ก็หลีกเลี่ยงซะ
  • ซื้อประกันการเดินทาง แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าคุ้มครองข้อนี้หรือไม่

เมื่อผมพาแม่ไปตะลุยโลก คู่มือการพาผู้ใหญ่ไปเที่ยวต่างประเทศ

หายไปนาน แต่ไม่ได้หายไปไหน เพราะผมพึ่งพาคุณแม่ไปตะลุยโลกกันที่ไต้หวันมาเองครับ
ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดทัวร์เองแบบครบทุกกระบวนท่าตั้งแต่พาแม่เดินออกจากบ้านจนกลับมาส่งถึงบ้าน
ตอนจบแม่บอกว่า “ผมสอบผ่านครับ 555+ ครั้งหน้าให้จัดใหม่ได้อีก”
ผมเลยมีเทคนิคเล็กๆมาฝาก สำหรับการพาผู้ใหญ่ไปเที่ยวต่างประเทศครับ

พาผู้ใหญ่เที่ยวเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย

คู่มือการพาพ่อ-พาแม่ไปเที่ยวฉบับนี้ จุดประสงค์คือ จะได้พาคนที่คุณรักไปเที่ยวได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย 100%

โดยผมจะขอแบ่งคู่มืออกเป็น 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการเตรียมตัวทางสุขภาพ และส่วนของเรื่องทั่วไปในการท่องเที่ยว
โดยเราเอง (คุณลูกนั้น) ต้องทำตัวเป็นทั้งหัวหน้าทัวร์ที่ดีจัดแผนเอาใจลูกทัวร์ และทำตัวเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่ดีคือทำยังไงก็ได้ให้แกไปเที่ยวได้ปลอดภัยและสุขภาพแข็งแรงตลอดการเดินทางครับ

เอาละไม่พูดมากแล้วครับ เริ่มกันเลยดีกว่าครับ

ไต้หวัน เป็นประเทศที่น่าพาพ่อแม่มาเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง

1. เลือกจุดหมายปลายทางที่เหมาะกับพ่อแม่

แกชอบอะไร ก็พาแกไปที่นั่นครับ แต่คงไม่ใช่แบบชอบภูเขาดันจะชวนแกไปเดินเขาที่เนปาลไรแบบนี้ ยกเว้นก็แต่ถ้าพ่อแม่แข็งแรงฟิตปั๋งอยู่ก็ว่าไป
จุดหมายปลายทางที่เหมาะกับพ่อแม่เลยคงไม่พ้นบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว เนื่องจาก เหตุผลด้านความสะอาด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง ที่พักก็ดี อาหารก็ดี เดินทางก็สะดวก
ถ้าเป็นในทวีปเอเชียก็เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงค์โปร์ ไกลออกไปหน่อยก็ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ครับ
ส่วนในทวีปยุโรปถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องอยู่บนเครื่องบินนานแล้วละก็ ในยุโรปพาท่านไปได้เกือบทุกประเทศละครับ

2. แกแข็งแรงพอไปเที่ยวหรือเปล่า

มีโรคประจำตัวไม่ได้แปลว่าเที่ยวไม่ได้ แต่ที่กำลังหมายถึงอยู่คือ แกมีอาการหรือโรคที่กำลังแสดงอาการอยู่ หรือว่าพึ่งพักฟื้นหายมาจากโรคที่อาการรุนแรง เช่น พึ่งพาตัดที่บริเวณท้องมาหมาดๆ หรือพึ่งกำลังหายดีจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อันนี้ควรเลื่อนการเดินทางทุกชนิดออกไปก่อน

3. เตรียมข้อมูลการเดินทางล่วงหน้าให้พร้อม

ขอแบ่งเป็น 2 ด้านนะครับ คือเรื่องของสุขภาพ และ สถานที่ท่องเที่ยว

  • สุขภาพ ถ้ารู้จุดหมายปลายทางแน่นอนแล้ว เผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 8 สัปดาห์ สำหรับการเตรียมตัว เพราะบางประเทศจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เช่น ฉีดวัคซีนไข้เหลืองก่อนไปทวีปอเมริกาใต้
  • สถานที่ท่องเที่ยวของ Backpacker กับพ่อแม่ มันต่างกันราวฟ้ากับดิน สำหรับวัยรุ่นไม่ต้องมีแผนอะไรมากมาย เพราะเราสามารถยืดหยุ่นได้ ที่นี่ปิด ก็เดินไปที่อื่นแทน ถ้าปิดหมดก็ไปเดิน แต่อุตส่าห์ได้พาพ่อแม่ไปทั้งที ก็เตรียมสิ่งดีๆไว้ให้แกครับ คัดสรรสถานที่ 5 ดาวเก็บเอาไว้เป็นตัวหลัก ถ้าเกิดปิดขึ้นมาก็เตรียมสถานที่ 4 ดาวเอาไว้เป็นแผนสำรอง

4. ทำประกันการเดินทาง (TRAVEL INSURANCE) ให้ท่านด้วย

อย่าให้เรื่องเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย มาทำให้เราต้องเสียใจในภายหลัง ไม่ว่าจะเดินไปทางที่ใดๆในโลก ถ้าระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 2 อาทิตย์ ค่าใช้จ่ายสำหรับประกันการเดินทางถือว่าเล็กน้อยมาก ไม่ถึง 5% ของงบการเดินทางทั้งหมดแน่ๆครับ เราจะได้สบายใจไปตลอดการเดินทาง
คำแนะนำเล็กน้อย พยายามหาประกันที่เราไม่ต้องสำรองเงินล่วงหน้า เช็คเบี้ยประกันดีๆว่าครอบคลุมอะไรบ้าง เช่น เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าไร เป็นค่าขนย้ายผู้ป่วยกลับประเทศเท่าไร ฯลฯ

5. ฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

จริงๆไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ควรต้องฉีดครับ สำหรับพ่อๆแม่ๆเราที่ปัจจุบันอายุอานามน่าจะเกิน 50-60 ปีขึ้นไปแล้ว โดยวัคซีนที่แนะนำทั่วไปเลยคือ เช่น
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) – ฉีดประจำทุกปี (แต่อันนี้ทางรัฐบาลสนับสนุนให้ฉีดฟรีในทุกๆปีในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี)
วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal) – วัคซีนนิวโมคอคคัสมีหลายชนิด ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดเสมอ

6. วัคซีนบางตัวสำคัญมาก แต่พ่อแม่เราดันฉีดไม่ได้

สำหรับคนที่จะพาพ่อแม่ไปเที่ยวอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เปรู อะไรแบบนี้ เราจะถูกบังคับให้ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever) ตามกฎหมายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสำหรับหนุ่มสาวๆไม่มีปัญหาอะไรครับ
แต่สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี การฉีดวัคซีนไข้เหลือง จะทำให้เรามีความเสี่ยงจากตัววัคซีนคือกลายเป็นโรคซะเองมากขึ้นได้ ดังนั้นแพทย์จึงไม่ยอมฉีดวัคซีนให้เด็ดขาด (สรุปคืออดไปนั่นเอง)
สรุปเลย ถ้ามีแผนจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวทวีปอเมริกาใต้หรือแอฟริกา ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆและไปปรึกษาแพทย์ครับ

7. จดยาสามัญประจำทริป + ยาประจำตัวที่กินทุกวัน

จดชื่อยาทั้งหมดใส่กระดาษ ขนาดยาที่กิน อย่าแกะเม็ดยาออกจากซองเด็ดขาด เวลาโดนตรวจเช็คจะได้ไม่มีปัญหา แล้วก็เตรียมยาไว้ให้จำนวนเกินกว่าจำนวนวันที่เราเดินทางเสมอ
ในกรณีที่ต้องมียากินบนเครื่องบินก็แยกที่บรรจุออกมาให้เรียบร้อย และก็เช่นเดิมอย่าแกะยาออกจากฉลากถ้าเป็นไปได้

เห็นดูไม่รู้เรื่องแบบนี้ สำคัญมากนะครับ อย่างน้อยควรมีสำเนา

8. ไปพบแพทย์ที่เรารักษาด้วยประจำก่อนเดินทาง

ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เยอะ และมีแพทย์ที่ดูแลประจำ ให้แจ้งหมอท่านนั้นเขียนจดหมายสรุปโรคและอาการที่สำคัญเอาไว้ด้วยจะดีมากครับ (ภาษาที่หมอเขียนให้ เป็นภาษาสากลที่แพทย์ทั้งโรคเข้าใจตรงกัน)
ซึ่งข้อมูลบางอย่าง ถ้าคนเป็นลูกสามารถขอถ่ายภาพเก็บเอาไว้ได้จะเยี่ยมมากเช่น

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ใบนี้สำคัญมากครับ ใครที่มีพ่อแม่เป็นโรคหัวใจจะรู้ดี ถ้าเราได้ถ่ายภาพใบนี้เก็บไว้ก่อน เกิดไปมีปัญหาที่นู่น เราจะได้ส่งใบนี้ให้หมอที่นู่นดูเปรียบเทียบได้ครับ ว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่
  • ภาพถ่ายรังสีปอด อันนี้อาจจะขอถ่ายยากหน่อย แต่ถ้าแจ้งกับหมอดีๆผมว่าไม่มีปัญหา คนที่เป็นโรคปอดมักจะมีปัญหาภาพถ่ายรังสีปอดที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปพบแพทย์ต่างประเทศ เขาไม่รู้ภูมิหลังเรามาก่อน เวลาเห็นอะไรผิดปกติเดี๋ยวจะทำให้รักษาผิดพลาดได้ (เพราะจริงๆมันผิดปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ผิดปกติมากขึ้นไงครับ)

9. หาข้อมูลสถานพยาบาลเบื้องต้น

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องไม่คาดคิด ต้องเก็บข้อมูลแบบนี้ไว้กับตัวเราเสมอ และที่สำคัญ เมืองแต่ละแห่งที่ไป หาข้อมูลเตรียมไว้เลยครับว่า สถานพยาบาลเบื้องต้นอยู่ที่ไหน กรณีอุบัติเหตุต้องทำอย่างไร ติดต่อเบอร์อะไร สำคัญมาก ยกตัวอย่าง

ญี่ปุ่น ให้เราติดต่อเบอร์ 119 ในขณะที่ของประเทศไทยคือ 1669 อะไรแบบนี้ครับ

หรือในกรณีของพ่อแม่ท่านใดที่ต้องฟอกเลือกล้างไตอยู่เป็นประจำ แต่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ถึงแม้เราจะกะคำนวณวันไว้อย่างดีแล้ว เกิดไม่สบายและต้องฟอกเลือดฉุกเฉินที่นู่นต้องทำอย่างไร ดังนั้นเราจึงควรจะมองหาศูนย์ล้างไตเอาไว้ในเมืองที่เราจะเดินทางไปไว้ล่วงหน้าด้วยครับ
ส่วนเรื่องของโรงพยาบาลนั้น ควรจะมองหาโรงพยาบาลที่เป็น international เป็นหลัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้ทำให้เราคุยรู้เรื่อง และก็มักจะรับ Travel insurance ที่เราทำมาจากเมืองไทย ส่วนจะหาที่ไหน เบื้องต้นสามารถหาได้จากหนังสือ Lonely planet แล้วก็ในอินเตอร์เน็ตครับ

10. สำหรับผู้ที่ต้องพาพ่อแม่ที่มีปัญหาโรคประจำตัวอยู่ > ข้อนี้สำคัญมาก

แนะนำมาขอรับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้าน Travel medicine ครับได้ที่
คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่คลินิกจะให้คำปรึกษาถึงโรคประจำตัว ยาที่กินประจำ จุดหมายปลายทางที่เดินทาง จนถึงวัคซีนและยาที่จำเป็นสำหรับจุดหมายปลายทางนั้นๆโดยเฉพาะ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ http://www.thaitravelclinic.com/th/
โทรศัพท์

  • 02-306-9100 ต่อ 3034, 02-3069145 (ในเวลาราชการ)
  • 02-306-9199 (วันเสาร์ 9.00-12.00น.)
เตรียมตัวมาดี มีชัยไปกว่าครึ่งครับ

เอาละครับ หลังจากเตรียมตัวด้านสุขภาพกันพร้อมแล้ว คราวนี้เรามาเริ่มมาวางแผนพาพ่อพาแม่เที่ยวกันเลยดีกว่า

1. ผู้ใหญ่จะกลัวมาก ถ้าไม่ได้นั่งด้วยกันบนเครื่องบิน

จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้ว ถ้าไม่ได้นั่งข้างกันแล้ว พ่อแม่จะมีความไม่สบายใจอย่างมาก แต่โดยปกติถ้าเราจองตั๋วใน booking เดียวกันแล้วมักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องที่นั่งเท่าไร ยกเว้นแต่บิน low cost ที่อาจจะมีโอกาสกระเด็นหลุดออกจากกันได้ ถ้าจะเอาให้ปลอดภัยก็คงต้องซื้อที่นั่งล่วงหน้าไปด้วยครับ

2. ที่พักต้องสะอาดมาก่อนเสมอ

เนื่องจากเหล่าผู้ใหญ่ๆทั้งหลาย รักความสะอาด ความสบาย และบรรยากาศที่ดีของห้อง เราจึงควรจะหาห้องพักที่คะแนน review ด้านนี้ให้สูงมากๆเอาไว้ก่อน (มากกว่า 8-9 คะแนนขึ้นไป) และรีวิวที่ได้รับมาควรจะมาจากนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวเช่นเดียวกัน ไม่ใช่คะแนนรีวิวมาจากเด็กนักเรียน หรือคู่รักฮันนีมูนที่ความคาดหวังต่างกัน คะแนนที่รีวิวออกมาจึงอาจจะสะท้อนความชอบที่ไม่เหมือนกันได้ เช่น ห้องพักที่ต้องเดินแบกกระเป๋าขึ้นไป 4-5 ชั้นคงไม่เหมาะกับพ่อแม่เราเท่าไร แต่สำหรับเด็กๆคงไม่เคยคิดว่านี่เป็นปัญหา อะไรแบบนี้

3. ทำเลที่พักอาจจะไม่ต้องติด MRT เสมอไป

เพราะอะไร เพราะว่าถ้าจะเอาให้แม่เที่ยวสบาย ส่วนใหญ่ก็ใช้ Taxi หรือจ้างรถเป็นหลักอยู่แล้วครับ จะพาท่านเดินขึ้นเดินลง MRT ไปสูดกลิ่นตัวแออัดกันในนั้นคงไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไร ดังนั้น location อาจจะไม่ต้องแบบเป๊ะเว่อร์ๆเช่น ติดกับ MRT ไรแบบนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างดีหมดแต่โรงแรมดันไปตั้งอยู่ข้างชานเมืองอะไรแบบนี้นะครับ ดังนั้นทำเลที่พักน่าจะเป็นเรื่องของความเหมาะสมในด้านของความสบายในการนอนและความปลอดภัยมากกว่า

ประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือโรงแรมบางแห่งอยู่กลางเมืองและมีหลายชั้น แต่ดันไม่มีลิฟต์ ต้องแบกของเอง ถ้าเราคิดว่าเราแบกเองได้ทั้งหมดก็โอเค แต่ถ้าสัมภาระมากจริงๆ คิดดูดีๆนะครับ

4. ต้องทำการบ้านเรื่องอาหารก่อนเสมอ

ไอผมก็เป็นที่กินง่ายโคตรๆ แบบว่าซื้อเดินไปกินไปให้จบๆมื้อนี่ก็พอแล้ว รสชาติไม่ได้มีความสำคัญ เพราะเอาแค่อิ่มท้อง แต่พอพาแม่มาด้วยแล้ว มันทำแบบนั้นไม่ได้ ผมต้องมองหาร้านที่ดีและอร่อย อันนี้ต้องถามคนท้องถิ่นหรือท่าน Google เอานะครับเวลากินอาหารก็เช่นกัน พยายามไปก่อนเวลาที่คนปกติเขาจะแห่มากัน เช่นมื้อเที่ยงก็กินกันตอน 11.00 จะได้ไม่ต้องพบกับกองทัพคนตอนช่วงเที่ยงวันครับ เราจะได้กินอาหารอย่างสุนทรียภาพ

ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจว่า พาพ่อแม่มาเที่ยวครับ

5. คิดเสมอว่าพาพ่อแม่มาเที่ยว

แผนการเดินทางเราจึงจะไม่แน่นขนัดไปด้วยโปรแกรมจำนวนมากมาย เพราะถ้าเที่ยวแบบนั้นคนแก่เหนื่อยแน่นอนครับ วันๆหนึ่งเที่ยวสัก 3-4 ที่กำลังดี จะได้มีเวลาให้แกได้เดินได้พักในระหว่างวันไปด้วยครับ สถานที่บางอย่างเราคงต้องตัดใจตัดมันทิ้งไปอย่างมีเหตุผลแบบนี้แหละ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบรรดาที่สูงๆที่ต้องใช้เข่าเยอะๆ เช่น พวกบรรดาหอคอย เนิน ภู ยอดเขา หรือพวกบันได 400-500 ขั้นอะไรแบบนี้ เอาออกไปเถอะครับจะได้ไม่เป็นภาระลูกหลานนะ 555+

6. เราเป็นคนกำหนดเวลาก็จริง แต่ต้องเผื่อเวลาไว้เสมอ

การเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุไม่กระฉับกระเฉงเหมือนคนหนุ่มๆ สถานที่บางแห่งต้องเดินขึ้นบันได เราอาจจะเดินแค่ 15 นาที แต่พอเป็นผู้ใหญ่อาจจะปาเข้าไปมากกว่าครึ่งชั่วโมงก็ได้ครับ แล้วไหนจะเวลานั่งพักอีก ดังนั้นเราต้องเผื่อเวลาเอาไว้เสมอ จะเที่ยวแบบเก็บรวดเดียวในวันเดียวกันทำไม่ได้แน่ๆครับ

การเดินทางไปที่สนามบินก็เช่นเดียวกัน มันจะต้องเกิดเรื่องวุ่นๆแน่นอนเวลาพาคนอื่นไปเที่ยว ดังนั้นไปล่วงหน้าครับสักอย่างน้อย 3 ชั่วโมงกำลังดี เกิดมีอะไรต้องแก้ไขขึ้นมา เราจะได้ปรับเปลี่ยนหาวิธีการได้ทัน

7. เวลาจะไปซื้อตั๋วอะไร ลองหาข้อมูลดูว่า มีบัตรผู้สูงอายุหรือไม่

ในหลายๆประเทศ เขาให้อภิสิทธิ์แก่คนสูงอายุเป็นพิเศษ เช่นที่ไต้หวันนี่หลายๆสถานที่ ถ้าใครอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เราสามารถแสดง passport แล้วได้ส่วนลด 50% ได้เลยนะครับ ส่วนใหญ่ข้อมูลพวกนี้สังเกตได้จากตอนที่กำลังเข้าคิวเพื่อรอซื้อตั๋วนั่นเอง

8. เรื่องง่ายๆ บางทีเป็นเรื่องยาก

โดยเฉพาะอะไรที่มันงงๆ เช่น ช่อง ตม. อัตโนมัติตอนออก/เข้าประเทศ ตามสนามบิน มันดูเหมือนง่ายกับผม แต่กับผู้ใหญ่แล้วมันคือสมการคณิตศาสตร์เล็กๆเลยนะครับถ้าจะเอาให้สบาย พาแกไปยืนรอช่องธรรมดาแล้วประทับตราธรรมดาจะสุนทรียภาพกว่าเยอะ เวลาไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยที่เราควรจะยืนประกบด้านหลัง เผื่อมีปัญหาจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะถ้าเราทำไปก่อนแล้ว อาจจะโดนไล่ไม่ให้เข้ามาได้ครับ

9. กรณีหลงทาง ทำอย่างไร

อันนี้ผมย้ำกับแม่เสมอว่า ถ้าเกินพลัดหลงกันจริงจะทำยังไง แต่จริงๆคงไม่หลงหรอก เพราะมือหนึ่งเกาะชายกระเป๋าผมอยู่ตลอดเวลา อิอิ แต่ยังไงเราต้องมีแผนสำรอง ถ้าแม่ทันสมัยก็ซื้อซิมโทรหากันไปเลย ง่ายดี แต่ถ้าแม่คุณทำไม่เป็นละ ผมเลยบอกแม่ผมว่า ถ้าหลงเมื่อไร ให้ยืนอยู่ตรงนั้น ห้ามไปไหน ไม่ต้องมาเดินตามหาผม เพราะเดี๋ยวผมจะเดินตามหาเอง รับรองเจอกันแน่นอน เพราะผมจะเดินย้อนกลับทางเดิมที่ตัวเองเดินมา อีกวิธีหนึ่งขอนามบัตรโรงแรมเอาไว้ครับ แล้วให้แกเก็บไว้กับตัว ในกรณีที่หากันไม่เจอจริงๆ ก็ให้ใช้นามบัตรแทนนี่แหละ

Motherscape

10. สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป

แบบประเภทพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แสงทไวไลท์ ทางช้างเผือกไรแบบนี้ เราอาจจะต้องลืมไปก่อน เพราะแม่เราคงไม่อาจจะทรหดอดทนแบบนี้ได้ เราเปลี่ยนสไตล์กันครับ จาก Landscape มาเป็น Motherscape แทน พวกเลนส์ถ่ายวิวเอาไว้ที่บ้าน เอาแต่เลนส์ฟิกซ์มาถ่ายแม่ตัวเองก็พอ นานๆทีจะได้มีโอกาสแบบนี้ ช่วงเวลาหัวค่ำจะได้ไม่ไปมัวถ่ายแต่รูป แต่เราจะได้นั่งกินอาหารพร้อมกับชมวิวสวยๆแทน

ข้อสุดท้ายคือ Plan A, Plan B, Plan C, Plan….Z
พาผู้ใหญ่ไปเที่ยว อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ให้พร้อมทุกทาง แล้วก็เดินทางให้สนุก โชคดี และปลอดภัยนะครับ ด้วยความปรารถนาดีอย่างสูง

Budget Trip

เที่ยวต่างประเทศฉบับรัดเข็มขัด (7 ประเทศ 7 สไตล์ในงบ 5,000 – 15,000 บาท)

ใครๆก็อยากไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เศรษฐกิจแบบนี้ จะให้ใช้เงินฟุ่มเฟื่อยไปกับการเที่ยวแพงๆได้ยังไง วันนี้เราเลยขอนำเสนอทริป เที่ยวต่างประเทศฉบับรัดเข็มขัด 7 ประเทศ 7 สไตล์ให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนเลือกสรรในงบประมาณสบายกระเป๋า บนสมมติฐานที่ว่าตั๋วเครื่องบินจะเป็นราคาปกติทั่วไปไม่นับช่วงโปรโมชั่นหรือเทศกาล และตั้งหลักเดินทางกันจากกรุงเทพนะจ้ะ

กัมพูชา (เสียมราฐ)

  • งบประมาณ: 3,000 – 5,000 บาท
  • การเดินทาง: นั่งรถบ่อนจากสวนลุมหรือเซ็นทรัลบางนาราคา 100 บาทแถมอาหารเช้าฟรีที่บ่อน เหมาแท็กซี่ต่อไปคันละ 1,000-2,000 บาท หารกัน 4 คน
  • ระยะเวลา: 3 – 5 วัน
  • ไปทำอะไร?: คุณจะได้สวมวิญญาณ ดร.อินเดียน่า โจนส์ ผจญภัยตามล่าหาขุมทรัพย์ใน นครวัด – นครธม ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกใกล้บ้าน ปั่นจักรยานชมรอบบริเวณวัด แต่หากคุณไม่ได้มีแววเป็นนักปั่นทีมชาติมาก่อน ทางเราขอแนะนำให้เช่ารถตุ๊กๆเอาเถอะค่ะ เพราะมันใหญ่มว๊ากกก (กลับมาน่องปูดแน่ๆ) อีกอย่างเราควรจะเก็บแรงไว้ช็อปปิ้งตลาดกลางคืน แต่อย่าเผลอช็อปปิ้งเพลินจนรู้อีกทีเงินหมดตัว ให้ระวังกระเป๋าไว้ให้ดีนะคะ พอตกดึกสายติ๊ดชึ่งสามารถสำรวจถนนสายผับ แด๊นซ์ไปกับเพลงเขมร ส่วนสายรักธรรมชาติและสายน้ำให้ทำตัวเป็นเด็กดีเข้านอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นแต่เช้าไปชมหมู่บ้านลอยน้ำที่ทะเลสาบโตนเลรอพวกแฮงค์จากเมื่อคืนตื่นแล้วค่อยกลับพร้อมกัน
  • เหมาะสำหรับ: ผู้ที่มีพละกำลัง(ขา) รักการสำรวจโบราณสถาน หลงใหลประวัติศาสตร์และอารยธรรมโลก (นั่นก็เว่อร์ไป) หรือแค่อยากจะไป cardio ลดความอ้วนซัก 2-3 วันและ check in ลง facebook ประกาศให้โลกรู้ว่าเดี๊ยนได้มาเยือนสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแล้วนะเคอะ อิจฉาไหมล่ะตัวเอง

ลาวเหนือ (วังเวียง – หลวงพระบาง)

  • งบประมาณ: 3,000 – 5,000 บาท
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องจากกรุงเทพไปสนามบินอุดรฯ ไปกลับตกประมาน 1,200 – 1,500 บาทและนั่งรถทัวร์ต่อไปวังเวียงอีก 320 บาท (ไม่แนะนำให้นั่งเครื่องไปลงเวียงจันทร์เพราะค่าเครื่องจะตกอยู่ที่ 7,000 กว่าบาทแนะ ไม่คุ้มๆ)
  • ระยะเวลา: 3 – 5 วัน
  • ไปทำอะไร?: คืนสู่ธรรมชาติ ทำตัว slow life กลมกลืนไปกับวิถีชาววังเวียง คุณจะได้ใช้ชีวิตเยี่ยงนักโบราณคดีสำรวจถ้ำ สะพาน วัด หรืออยากแอดเวนเจอร์แบบกรุบกริบก็สามารถไปลองคายัคห่วงยางได้ เที่ยววังเวียงเสร็จเราก็นั่งรถทัวร์ต่อไปหลวงพระบาง เก็บวัดและโบราณสถานรัวๆ แล้วค่อยมาโรแมนติกชมวิวพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำ ทีนี้ล่ะ คุณจะสามารถทำตัวเป็นเศรษฐี ใช้จ่ายทีเป็นหมื่น(กีบ) เหอะๆ เพิ่มเติมเล็กๆคือคนลาวฟังภาษาไทยออกนะเออ ทีนี้อย่าเผลอไปพูดล้อเลียน เปรียบเทียบตลกๆ นี่อาจจะโดนจับยำอยู่ที่นั่น อีกอย่างคือห้ามถ่ายภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นักท่องเที่ยวไทยเคยโดนจับมาแล้วนะจ้ะ ขอบอก ก่อนถ่ายภาพก็มองซ้ายขวาหาป้ายห้ามซักนิดนึงน้า
  • เหมาะสำหรับ: ผู้ที่อยากทำตัวขี้เกียจทั้งวันท่ามกลางบรรยากาศขุนเขา แม่น้ำ และฝรั่งหล่อๆที่มาเที่ยวเหมือนกัน

มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์ – มะละกา)

  • งบประมาณ: 5,000 – 7,000 บาท
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องไปลงกัวลาลัมเปอร์ ไปกลับประมาณ 2,000 – 3,000 บาท และนั่งรถทัวร์ไปมะละกา
  • ระยะเวลา: 3 – 5 วัน
  • ไปทำอะไร?: มาถึงเมืองหลวงของมาเลเซียทั้งทีต้องไปดูอะไรเอ่ย ทะดา อดีตตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างตึกใบหยก เอ้ย Petronas Twin Towers ไม่งั้นถือว่ามาไม่ถึงกัวลาลัมเปอร์ (แนะนำให้ไปถ่ายรูปตึกนี้ดึกๆ เพราะนางเกิดมาเพื่อเปล่งประกายยามค่ำคืนจริงๆ) ต่อด้วยการชมจัตุรัสเมอร์เดก้า ซึ่งเป็นลานใหญ่ที่มาเลเซียใช้ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เสาธงที่สูงที่สุดในโลก และสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย อีกวันก็นั่งรถบัสไปมะละกา เมืองที่ถูกยกให้เป็นเมืองมรดกโลก เดินเท้าชมโบสถ์และตึกเก่าแก่สไตล์โปรตุเกส เย็นๆ แดดร่มๆ ก็ค่อยลงเรือล่องคลองมะละกาที่เชื่อมมาจากช่องแคบมะละกาที่พวกเราเคยร่ำเรียนกันมาสมัยประถม ตกดึกให้เดินชมถนนคนเดินเลือกซื้อของท้องถิ่นแหวกแนวกลับไปอวดชาวบ้านและซื้อขนมอร่อยๆกิน ไปมาเลเซียต้องระวังการโดนแท็กซี่ตามสนามบิน สถานีรถไฟ รถทัวร์ เพราะคุณจะโดนโขกสับจนกระเป๋าแห้งได้ อีกอย่างคือห้ามลืมว่ามาเลเซียเป็นเมืองอิสลาม ดังนั้นห้ามสั่งหมูนะจ้ะ (หนูไปเผลอสั่งมาแล้วค่า TT)
  • เหมาะสำหรับ: ผู้ที่อยากเที่ยวทั้งแนวเมืองใหญ่ ยุ่งๆวุ่นวายมีอะไรให้ทำเยอะๆ และแนวเมืองเล็กๆชนบทหน่อยๆ เงียบๆ เที่ยวทั่วด้วยสองเท้า ในเวลาอันจำกัด

เวียดนามเหนือ (ฮานอย – ซาปา)

  • งบประมาณ: 7,000 – 10,000 บาท
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องไปลงฮานอยไปกลับตกประมาณ 3,000 – 3,500 บาท รถไฟนอนไปซาปาไปกลับอยู่ราวๆคนละ 1,200 – 1,600 บาท
  • ระยะเวลา: 5 – 6 วัน
  • ไปทำอะไร?: ยินดีต้อนรับสู่เมืองหลวงของเวียดนามจ้า ที่ๆคุณจะได้ชมสกิลการแว๊นมอไซค์ระดับโลก และการบีบแตรใส่กันแบบถ้าเป็นเมืองไทยมีลงไปตบ คือเสียงแตรดังตลอดเวลาแบบไม่รู้ว่าตกลงจะบีบแตรกันเวลาไหนบ้าง เดินเอื่อยเฉื่อยริมทะเลสาบคืนดาบ ออกตระเวนสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ทำเนียบ วัด สุสาน พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น นั่งยองๆลิ้มลองอาหารที่ประกอบไปด้วยผัก(เป็นกะละมัง)รสชาติจัดจ้านข้างถนน ออกล่องเรือโบราณในฮาลองเบย์ ที่ชื่อว่าเป็นกุ้ยหลินแห่งเวียดนาม ชื่นชมความงามดินแดนสรวงสวรรค์ ดึกๆนั่งรถไฟนอนไปซาปา เยือนดินแดนแห่งสายหมอก เดินชมนาขั้นบันไดที่อลังสุดในสามโลก ช็อปปิ้งเสื้อหนาว Northface ที่คนขายบอกว่าของแท้เพราะแม่ผมเย็บเอง? ปีไหนโชคดีอาจได้ยืนปากสั่นท่ามกลางหิมะโปรยแบบไม่ต้องตีตั๋วไปไหนไกล โรแมนติกซะไม่มี เวียดนามนี่เป็นที่ลือเลื่องด้านแท็กซี่มาก ให้มองหาแท็กซี่ของ MaiLinh (โอกาสไม่ถูกโกงประมาณ 70%) นอกนั้นโดนหม้ด จะซื้อของให้ถามราคาก่อน ดูเรื่องเงินทอนให้ดี คนเขียนเจอป้าท่าทางน่าสงสารแกล้งทอนเงินผิดไปสิบเท่ามาแล้ว อิป้าาา
  • เหมาะสำหรับ: บุคคลผู้รักธรรมชาติมากกก ชื่นชอบอารยธรรมเล็กน้อย อยากลิ้มลองรสชาติการนอนห่มผ้าห่มอุ่นๆหมกขี้ไคลในรถไฟ สัมผัสการข้ามถนนที่เสียวไส้ที่สุดในชีวิต (ทำประกันการเดินทางไปด้วยเถอะ ขอร้อง)

พม่า (มัณฑะเลย์ – พุกาม)

  • งบประมาณ: 10,000 – 13,000 บาท (จะถูกหรือแพงขึ้นกับค่าตั๋วเครื่องบินที่หาได้)
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องบินไปลงที่มัณฑะเลย์ ไปกลับเป็นได้ตั้งแต่ 4,000 – 6,000 บาทหรือมากกว่า ระหว่างมัณฑะเลย์ – พุกามนั่งรถบัสจะถูกสุด
  • ระยะเวลา: 5 – 6 วัน
  • ไปทำอะไร?: มิงกะลาบา ขอต้อนรับสู่ยุคที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเข้าไปเวิ่นในพม่าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า หัวเราะภาษาพม่าสามที ปฏิบัติ! เยือนมัณฑะเลย์ เมืองหลวงเก่าของพม่าก่อนจะเสียเอกราชให้อังกฤษ ดูสะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก พระราชวังมัณฑะเลย์ และวัดอีกรัวๆ ตกดึกก็นั่ง Night bus ไปพุกามทีขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเจดีย์ 4,000 องค์ ก็ต้องมาชมเจดีย์และวัดกันแบบ non-stop ตอนเช้าตรู่อย่าลืมดูบอลลูนขึ้นเต็มฟ้ามาพร้อมกับแสงแรกของวันให้ภาพสวยจับใจ หรือใครอยากสัมผัสประสบการณ์ขึ้นบอลลูนลอยบนอากาศ ชมทะเลเจดีย์ ก็ให้ลองจัดดูสักตั้ง ค่าใช้จ่ายบวกเพิ่มจากงบเดิมไปอีก 9,600 บาท (แอบกลืนน้ำลายหนึ่งเอื้อก) เนื่องจากพม่าเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา ต้องแต่งกายสำรวม ห้ามนุ่งสั้นเข้าวัดวาอารามเป็นอันขาด ระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม โดยเฉพาะน้ำ ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดปิดผนึกเรียบร้อยแล้วเท่านั้น กันท้องร่วงระหว่างทริปนะจ้ะ
  • เหมาะสำหรับ: ผู้ที่ชอบเข้าวัดเข้าว่า ช่างภาพล่าวิวทิวทัศน์ระดับหลักล้าน ผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและชีวิตแบบสมถะ ต้องการมาพักผ่อนและสงบจิตสงบใจไปพร้อมๆกัน

สิงคโปร์

  • งบประมาณ: 10,000 – 13,000 บาท (ไม่รวมช็อปปิ้ง)
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องบินไปลงสนามบินชางฮีซึ่งเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ราคาไปกลับประมาณ 3,500 – 4,000 บาท ที่เหลือก็นั่งรถไฟใต้ดินและรถเมล์เอาถูกๆ
  • ระยะเวลา: 3 – 4 วัน
  • ไปทำอะไร?: หลังจากเจอทริปธรรมชาติ สังคม ประวัติศาสตร์ อารยธรรมมารัวๆ คราวนี้เราขอนำเสนอทริปไร้ทิวทัศน์ (เพราะมีแต่ตึก ตึก และตึก และแม่น้ำ อ่าว ทะเล แผ่นดิน ที่เกิดจากการขุดสร้างถมล้วนๆ) ปราศจากประวัติศาสตร์ต้องจดจำให้ปวดหัว (เพราะประเทศนี้เพิ่งจะครบ 50 ปีไปเมื่อไม่กี่ปี) เดินชิกๆเกร๋ๆเอาโบนัสที่เพิ่งได้มาละลายกับของแบรนด์เนมไฮเอนด์ละลานตา เยือนสวนสนุกระดับโลก Universal Studio Singapore เงินเหลือก็เล่นเครื่องเล่นในเกาะหฤหรรษ์ Sentosa ต่อ มีสวนนก สวนสัตว์ทั้งแบบกลางวันกลางคืน หรือใครอยากจะเข้าวัดจีน วัดไทย มัสยิด โบสถ์ ที่นี่มีหมด กลางคืนก็ไปจับจองพื้นที่ดูแสง สี เสียง น้ำพุ ตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ สัมผัสอาหารราคาแพงในศูนย์อาหารที่โค-ตะ-ระจะร้อนประกอบเสียงลุงป้าตะโกนกันโฉ่งเฉ่ง เดินในถนนที่สะอาดที่สุดแบบที่จะไม่ได้พบเจอในประเทศไทย กับทางม้าลายที่สามารถข้ามถนนใหญ่ได้อย่างปลอดภัยไม่กลัวตาย เนื่องจากที่นี่กฏระเบียบเข้มงวดมาก เช่น ข้ามถนนไม่ตรงทางม้าลาย จับได้ปรับ 400 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 10,000 บาทเอ๊ง) ระมัดระวังกันหน่อย อย่าไปทำผิดกฎเค้านะลูกนะ
  • เหมาะสำหรับ: ผู้ที่มีทรัพย์พร้อมช็อปจะสนุกมาก เบื่อชีวิตสงบนิ่ง อยากเพิ่มความ active ให้ตัวเอง ชื่นชอบอะไรก็ตามที่ทำขึ้นเองด้วยฝีมือมนุษย์ หรืออยากจะมาดูการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างน้อยนิดให้คุ้มค่าก็ไม่ว่ากันค่ะ

อินโดนีเซีย (สุราบายา – บาหลี)

  • งบประมาณ: 13,000 – 15,000 บาท
  • การเดินทาง: นั่งเครื่องบินลงสุราบายา ขากลับกลับที่บาหลี ตกประมาณ 8,000 บาท ในประเทศให้เช่ารถพร้อมคนขับที่รู้เส้นทางแพงถูกขึ้นกับจำนวนคนหารและสถานที่ที่จะไป
  • ระยะเวลา: 4 – 6 วัน
  • ไปทำอะไร?: เสี่ยงตายพิชิตสองภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นพร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ เริ่มด้วยการปีนภูเขาไฟโบรโม่อันโด่งดังที่เปรียบดั่งลมหายใจเทพเจ้า วันรุ่งขึ้นไปปีนภูเขาไฟที่ชันกว่าชื่อ คาวาอี้เจี้ยน เพื่อดูเปลวไฟสีน้ำเงิน เที่ยวชมน้ำตกน้อยใหญ่ระหว่างทาง และหลังจากที่ใช้ชีวิตลำบาก ปีนเขา เมาเขม่าควันภูเขาไฟมานาน ก็ปิดท้ายด้วยนั่งเรือข้ามไปสำเริงสำราญในเกาะสวรรค์ บาหลี เนื่องจากโบรโม่และคาวาอี้เจี้ยนเป็นภูเขาไฟที่ยัง active อยู่ ก่อนขึ้นก็กราบไหว้ฟ้าดินขอไม่ให้มันระเบิด ไปถึงปากปล่องควรสำรวม เชื่อฟังไกด์ อย่าไปแอ๊คท่าถ่ายรูปอะไรผาดโผน มีคนลื่นตกไปในปล่องมาแล้วเน้อ
  • เหมาะสำหรับ: ผู้รักการแอนแวนเจอร์ ชื่นชอบความเสี่ยงเล็กๆพอให้อะดรีนนาลีนหลั่ง มีร่างกายแข็งแรงพอสมควรในการปีนภูเขาไฟ หากไม่มีซักข้อที่กล่าวมาให้จองตั๋วตรงไปนอนนวยนาดรอคนอื่นที่บาหลีได้เลย

มีหลายที่ หลายสไตล์ ให้เลือกสรรในราคาสบายกระเป๋าแบบนี้ จะมัวชักช้าอยู่ใย รีบวางแผนออกท่องโลกกว้างด่วนเลย แต่ถึงจะมีงบประมาณจำกัดก็อย่าลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การทำประกันการเดินทางในราคาไม่กี่ร้อยบาท ด้วยนะจ้ะ