5 สิ่งผิดพลาดที่พบมากที่สุดเมื่อไปท่องเที่ยว

เชื่อว่าเวลาไปท่องเที่ยว ทุกคนก็อยากมีความสุขและสนุกที่สุด ให้คุ้มกับเงินเป็นหมื่นๆที่เสียไป แต่เคยได้ยินกฎของเมอร์ฟีไหมที่ว่า “Whatever can go wrong, will go wrong” อะไรก็ตามที่แม้วางแผนมาดีขนาดไหน เตรียมตัวมาขนาดไหน ก็สามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้น วันนี้เรามาดู 5 ความผิดพลาดที่พบมากที่สุดในการท่องเที่ยว พร้อมวิธีป้องกันและแก้ไข เป็นความรู้ประดับบารมีนักท่องเที่ยวมือสมัครเล่นและมือโปรกันดีกว่า

กระเป๋าหาย!

ความผิดพลาดอันดับแรกๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกทริป เมื่อคุณเดินทางถึงที่หมายโดยปลอดภัย ไปรอรับกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องไว้ด้วยความตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น รอแล้วรอเล่าจนกระเป๋าถูกเอาไปจนเกลี้ยงสายพานก็ยังหากุชชี่ใบสีแดงแรงฤทธิ์ของคุณไม่เจอ?!? เสื้อผ้า อุปกรณ์กันหนาว ข้าวของมีค่าอะไรก็อยู่ในนั้นหมด แล้วฉันจะใส่อะไรมิทราบยะ!

จะทำยังไงดี?:

  • สงบสติอารมณ์ พยายามทำตัวเป็นผู้ดีมีเหตุผลมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าคุณอยากจะวีน เหวี่ยง ให้สนามบินระเบิดมากแค่ไหนก็ตาม
  • อย่าเพิ่งออกจากสนามบิน ไปที่เคาน์เตอร์ของสายการบินและแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่เป็นไปได้
  • ต่อรองเพื่อสิ่งที่คุณควรจะได้ ความจริงคือไม่ใช่ทุกสายการบินจะชดใช้ค่าเสียหายให้คุณแม้ว่ามันนั่นแหละที่เป็นคนทำหาย! (อย่าใส่อารมณ์ ใจเย็นๆไว้) ดังนั้นศึกษากฎระเบียบของสายการบินที่คุณจะบินให้ดี ใช้ทุกช่องทางกดดันให้สายการบินชดใช้ให้คุณอย่างเหมาะสม ขั้นตอนนี้ขอให้ใช้คำพูดให้เหมาะสมอย่าหยาบคายด้วยแรงอารมณ์นะจ้ะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่ต้องเอาอะไรไปมาก บางทริปแค่ 3-4 วันเอาของไปแค่เป้ใบย่อมๆก็พอ เสื้อผ้าชิ้นไหนใส่ซ้ำได้ก็ใส่ ไม่ต้องเสียเงินค่าโหลดกระเป๋าแถมตัดความเสี่ยงเรื่องนี้ไปโดยปริยาย
  • พกเสื้อผ้าสำรองไว้กับตัวอย่างน้อย 1 ชุด ปกติถ้าสายการบินหากระเป๋าเราเจอ เค้าจะส่งตามมา 1-2 วันให้หลัง ดังนั้นระหว่างนี้ ถ้าไม่อยากตัวเน่าก็ควรพกชุดเปลี่ยนไว้ในกระเป๋าที่เป็น carry on แก้ขัดไปก่อนได้ ส่วนใครที่ไปเมืองหนาวแนะนำให้เอาเสื้อกันหนาวขึ้นเครื่อง อย่างน้อยจะได้ไม่แข็งตายหรือเสียเงินซื้อเสื้อกันหนาวแสนแพงใหม่ก่อนที่กระเป๋าที่หายจะถูกส่งมา
  • พกเอกสารสำคัญและข้าวของมีค่าไว้กับตัว พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน เอกสารประกันการเดินทาง บัตรเครดิต ยา แว่นตา คอนแทคเลนส์ แหวนเพชรราคาแพง ฯลฯ เหล่านี้ต้องติดตัวไว้เสมอ
  • ถ่ายรูปของในกระเป๋าไว้ เวลาไปแจ้งของหายพวกสายการบินชอบถามว่ามีอะไรอยู่ข้างใน อะนี่ แกเอาไปดูซ้า
  • ซื้อประกันการเดินทาง ถ้ามีการขึ้นเครื่องหลายๆต่อที่ต้องซื้อด่วน อย่าลืมดูว่ามีคุ้มครองเรื่องนี้หรือเปล่า หลายๆที่จะชดใช้ค่าเสื้อผ้าวันแรกของเราด้วย

ตกเครื่อง!

อาจจะเป็นเพราะเที่ยวบินแรกของคุณดันดีเลย์ รถติด รถไฟฟ้าเสีย หลับเพลิน หรืออะไรก็ตามแต่ แต่พอกระเสือกกระสนมาถึงสนามบิน เที่ยวบินที่คุณจองไว้ได้โบยบินออกไปแล้ว ไม่นะ!

จะทำยังไงดี?:

  • กรณีไปต่อเครื่องไม่ทัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสายการบินเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นเป็นปัญหาของทางสายการบินเองที่จะหาเที่ยวบินต่อไปให้กับคุณให้เร็วที่สุด หน้าที่ของคุณมีอย่างเดียวคือทำตัวพูดรู้เรื่อง เจรจาอย่างใจเย็น ไม่วีนเหวี่ยง ใครๆก็อยากให้ความช่วยเหลือ
  • เปลี่ยนตั๋ว เจรจากับเจ้าหน้าที่ของสายการบินขอเปลี่ยนตั๋วอย่างมีสติ แน่นอนว่าต้องมีค่าเปลี่ยนตั๋ว แต่ก็ดีกว่าค้างเติ่งอยู่ที่สนามบินเป็นวันๆละนะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่จองตั๋วเครื่องบินต่อกันกระชั้นเกินไป อย่างน้อยมี 2 ชั่วโมงสำหรับการเปลี่ยนเครื่อง รอนิดหน่อย ดีกว่าตกเครื่องแล้วต้องเสียทั้งเวลาทั้งเงินเน้อ
  • เผื่อเวลาไว้บ้าง หลายๆเมืองขึ้นชื่อเรื่องรถติด เช่น กรุงจาการ์ต้า กรุงมะนิลา เป็นต้น ถ้าคุณบังเอิญเดินทางจากเมืองเหล่านั้น ควรจะเผื่อเวลาไว้เยอะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมาถึงสนามบินได้ทันเวลา

ถูกล้วงกระเป๋า!

โจรขโมยแอบอยู่ทุกหลืบ ทุกมุมเมือง ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็ตาม รู้ตัวอีกครั้ง กระเป๋าคุณอาจถูกกรีดเป็นทางยาว เงินและเอกสารสำคัญหายหมดเกลี้ยงก็เป็นได้

จะทำยังไงดี?:

  • แจ้งตำรวจท้องถิ่น ซึ่งอาจจะไม่ทำอะไรเลย (เพราะเจอเคสเหล่านี้ประจำ) แต่ทำไปเถอะ ยิ่งถ้าคุณซื้อประกันการเดินทางไป ใบแจ้งความคือสิ่งแรกที่บริษัทประกันจะถามถึง
  • โทรแจ้งบริษัทประกัน รีบโทรแจ้งให้เรียบร้อย เรื่องจะได้เดินเร็วขึ้น และเราจะได้รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ
  • ติดต่อสถานฑูตไทยประจำประเทศนั้นๆ จำเป็นกรณีพาสปอร์ตหาย และอาจจะช่วยคุณดำเนินการเรื่องยกเลิกบัตรเครดิตต่างๆได้

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ใช้กระเป๋าซ่อนเงิน (money belt) โอเค เข้าใจว่ามันโค-ตะ-ระจะเกะกะและน่ารำคาญ หยิบเงินแต่ละทีก็ต้องมาลำบากล้วงกันอีก แต่ใช้เถอะ คุณยังหยิบเงินได้ยาก ขโมยก็ยิ่งหยิบของคุณยากกว่า
  • สแกนหน้าพาสปอร์ตและบัตรเครดิตเก็บไว้ จะอีเมลหาตัวเอง เก็บขึ้นพวก Dropbox หรือ Google Drive อะไรก็ได้
  • อย่าทำตัวเด่น อันนี้รวมถึงการสะพายกล้องราคาแพง ใส่นาฬิกาเรือนแสน แบกเป้ใบเขื่อง แต่งตัวแบบที่หัวขโมยมองปราดเดียวแล้วรู้ทันทีว่าคุณเป็นนักท่องเที่ยวเอ๋อๆคนหนึ่งที่พร้อมให้มันปล้นเอา
  • ไปในสถานที่ที่ปลอดภัย มีคนพลุกพล่าน

ป่วย บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ!

คุณไปปีนเขาที่เนปาล ระหว่างนั้นเกิดอาการแพ้ความสูง (Altitude Sickness) มีเหตุต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายคุณสู่พื้นดินกระทันหัน หรือระหว่างที่คุณกำลังเล่นสกีอย่างเมามันอยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น เกิดพลาดท่าล้มขาหัก ถูกหามเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือคุณอาจไม่สบายเพราะอาการเปลี่ยนก็เป็นได้ อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้จะระวังตัวอย่างดีแล้วก็ตาม

จะทำยังไงดี?:

  • ถ้าเป็นแค่เจ็บป่วยธรรมดา เข้าร้านขายยาก็พอ ไม่ต้องถึงกับไปโรงพยาบาลให้ยุ่งยากวุ่นวาย
  • แต่ถ้าจำเป็นก็ไปโรงพยาบาลเถอะ อย่าปล่อยให้เป็นหนักถึงมันจะแพง แม้ว่าคุณจะไม่ได้ซื้อประกันการเดินทางไว้เลย
  • ตรวจสอบเงื่อนไขของประกันการเดินทางที่คุณซื้อ กรณีที่คุณซื้อประกัน ให้ตรวจสอบก่อนว่าอะไรคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองและใช้มันซะ

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ทำตัวให้แข็งแรงก่อนการเดินทาง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ
  • ซื้อประกันการเดินทาง ถ้ารู้ว่าตัวเองจะผจญภัยที่ทำกิจกรรมอะไรที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โปรดอย่าเสียดายเงินและซื้อประกันการเดินทางซะ
  • เตรียมยาสามัญประจำบ้านไป พวกยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดหัว แก้ท้องร่วง ท้องอืด เพราะเอาเข้าจริงบางประเทศต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้นถึงจะซื้อได้

ภัยธรรมชาติ!

ครั้งหนึ่งในชีวิตการเดินทางของผู้เขียน ได้ไปติดอยู่ที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งตุรกีด้วยเหตุพายุหิมะถล่ม ทำให้ทุกเที่ยวบินถูกยกเลิก ต้องติดอยู่ที่สนามบินเป็นระยะเวลานานจนในที่สุดก็หาตั๋วเครื่องบินใหม่ได้ ซึ่งราคาแพงกว่าตั๋วเดิมที่ได้ refund มาถึง 6 เท่า! ตอนนั้นโชคดีว่าซื้อประกันการเดินทางไปจึงสามารถเคลมคืนได้หมด

จะทำยังไงดี?:

  • ตั้งสติ สติคือทุกอย่าง หากเจอภัยธรรมชาติอื่นๆที่แย่ยิ่งกว่าพายุหิมะ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เราต้องรู้ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ดังนั้นควรศึกษาภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นในที่ๆเราจะไปและการเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาตินั้นๆด้วย
  • ส่งข่าวกับทางบ้านด้วย อย่าลืมบอกคนที่บ้านว่าคุณยังอยู่ดี ทางนู้นอาจเป็นห่วงจนแทบจะบินมาหาคุณด้วยตัวเอง
  • ตรวจสอบเงื่อนไขของสายการบินและประกันการเดินทางที่คุณซื้อ ดูว่ากรณีไหนที่คุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง

ป้องกันไว้ก่อน:

  • ไม่ไปสถานที่นั้นในช่วงที่อาจเกิดภัยธรรมชาติ ถ้าคุณรู้ก็หลีกเลี่ยงซะ
  • ซื้อประกันการเดินทาง แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าคุ้มครองข้อนี้หรือไม่